top of page

เข้าใจปัญหาสายตาที่พบบ่อยของทุก “วัย” ของครอบครัวใน 3 นาที โดย นพ. สุวิช รัตนศิรินทรวุธ



นพ.สุวิช: ปัญหาสายตาเป็นปัญหาที่อยู่กับเราและคนรอบตัวเราไม่ว่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่ หรือเด็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นภาพเบลอ ภาพซ้อน มองใกล้ไม่ชัด มองไกลไม่ชัด ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนยังไม่เข้าใจ วันนี้ผม นพ. สุวิช รัตนศิรินทรวุธ ผู้ก่อตั้งและจักษุแพทย์ของร้าน WALTZ จะมาทำให้คุณได้เข้าใจวัฏจักรของปัญหาสายตาเหล่านี้ตั้งแต่วัยเด็กจนวัยชราในมุมมองง่ายๆครับ


วัยเด็ก

วัยเด็กเป็นวัยที่ดวงตายังเจริญเติบโตไม่เต็มที่และไม่คงที่ ดังนั้นสายตาของเด็กจึงมีการเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าและอ่อนไหวกว่า งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าการเพ่งของเด็ก ส่งผลโดยตรงกับปัญหาสายตาที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันด้วยชีวิตสมัยใหม่ การเพ่งจ้องมือถือ แท็บเล็ต หรืออ่านหนังสือผิดวิธี เหล่านี้ยิ่งทำให้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของสายตานี้รุนแรงมากขึ้นไปอีก




วัยทั่วไป

วัยทั่วไป ดวงตาของแต่ละคนมีสรีระที่ไม่เหมือนกัน บางคนกระบอกตาสั้น บางคนยาว บางคนกระจกตาโค้งมาก บางคนโค้งน้อย ตาบางคนมีความกลมไม่สมดุล บางคนมาก บางคนน้อย เหล่านี้ทำให้เกิด สายตาสั้น (แสงตกสั้นกว่าจอประสาทตา) สายตายาว (แสงตกเลยจอประสาทตา) และ สายตาเอียง (ความโค้งกระจกตาไม่เท่ากันในแต่ละแกนทำให้แสงในแต่ละแกนตกคนละตำแหน่ง)




วัย 40+

ในวัยตั้งแต่ 40 ขึ้นไปโดยเฉลี่ย ปัญหาก็มีเพิ่มขึ้นไปอีก การมองระยะใกล้ (ลองเอาหนังสือไว้ใกล้ๆหน้าและลองพยายามอ่านดู) ต้องใช้ “กำลังในการเพ่ง” ยิ่งอายุมากกำลังการเพ่งนี้ก็ยิ่งน้อยลงเพราะองค์ประกอบของร่างกายมีการเสื่อมสภาพไปตามวัย) จากเดิมที่เคยถือหนังสืออ่านได้ในระยะใกล้ก็เริ่มเพ่งไม่ได้ ต้องถือหนังสือหรือวัตถุห่างออกไปเรื่อยๆ ยิ่งอายุเยอะก็ยิ่งมีปัญหา




ไม่ว่าคุณหรือคนรอบตัวจะอยู่ในวัยใด ปัญหาสายตาก็เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการมองไม่เห็นหรือบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป และในบางครั้งก็ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอีกต่างหาก (การปวดหัว ปวดกระบอกตาจากการพยายาม “ฝืน” ใช้สายตา เป็นต้น) หากคุณหรือคนรอบข้างเริ่มมีปัญหาทางสายตา อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลาม ปรึกษา นักทัศนมาตร หรือ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวิเคราะห์สภาพสายตาและปรึกษาแนวทางการแก้ไขเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นครับ





WALTZ | SELECTIVE LUXURY EYEWEAR Siam Paragon | Crystal Park | K Village | The ICONSIAM | Crystal SB Ratchapruek

120 views

Comments


bottom of page